นำเสนอสไตล์ TED Talk กับ 9 เคล็ดลับ จากหนังสือของ Carmine Gallo (ตอนที่ 1)

นำเสนอสไตล์ TED Talk (ตอนที่ 1)
ถ้าพูดถึงการนำเสนอที่ดีที่สุด หลายคนคงนึกถึงการนำเสนอในงาน TED Talk [1]งานประชุม TED ซึ่งย่อมาจาก Technology, Entertainment, และ Design
มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่แนวคิดที่สร้างแรงบันดาลใจในทั้ง 3 ด้านข้างต้น
โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1984 ซึ่งได้จัดเป็นงานประชุมปีละครั้ง ครั้งละ 4 วัน
โดยให้วิทยากรแต่ละคนนำเสนอด้วยการพูดในที่สาธารณะ (public speaking) คนละไม่เกิน 18 นาที
เมื่อเวลาผ่านไป งานประชุม TED นี้ก็มีแต่โด่งดังขึ้น และเมื่อถูกซื้อไปโดย Chris Anderson ซึ่งเป็นประธานผู้ดูแลงานประชุมตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
ชื่อเสียงของงานประชุม TED ก็ยิ่งทวีความยิ่งใหญ่ โดยมีชุมชนต่าง ๆ ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกจัดงาน TEDx
ซึ่งเป็นงานประชุมลักษณะเดียวกับ TED ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก TED
ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่เพิ่งจัดงานประชุม TEDxBangkok ครั้งที่ 2 ไปเมื่อเดือน สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา[2]
หัวข้อการนำเสนอก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ Technology, Entertainment และ Design อีกต่อไป
แต่ครอบคลุมหัวข้อใดๆ ที่สามารถกระตุกต่อมความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังได้
ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อเสียงของงานประชุม TED ก็แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็วผ่านการเผยแพร่การนำเสนอในเว็บไซต์ TED.com
ซึ่งในปี 2015 เพียงปีเดียว ก็มีผู้ชมรวมทั้งสิ้นกว่าพันล้านครั้ง
TED Talk ทำให้ผู้ชมติดตราตรึงใจกับการนำเสนอความยาวไม่ถึง 18 นาทีได้อย่างไร
มีหนังสือหลายเล่มพยายามจับประเด็นหัวใจหลักของการนำเสนอ TED นี้
อย่างไรก็ตาม หนังสือเกี่ยวกับ TED Talk ที่ติดอันดับ Top 10 Best Seller ด้าน Public Speaking ในเว็บไซต์ amazon.com มีเพียง 2 เล่ม
นั่นก็คือ Talk Like TED [3] โดย Carmine Gallo นักนำเสนอมืออาชีพ ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2014
และ TED Talks [4] โดย Chris Anderson ประธาน TED Talk ตัวจริง ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี 2016 นี้เอง

ในบทความตอนแรกนี้ จะขอนำเสนอ 9 เคล็ดลับในหนังสือของ Carmine Gallo กันก่อนนะคะ
Carmine Gallo ถอดรหัสลับการนำเสนอ TED Talk โดยศึกษาจากคลิปการนำเสนอกว่า 500 คลิป มีเทคนิคอะไรบ้าง เรามาเริ่มกันเลยค่ะ9 เคล็ดลับในหนังสือของ Carmine Gallo
เคล็ดลับที่ 1 ปลดปล่อยผู้เชี่ยวชาญภายใน (Unleash the Master Within)
ความหลงใหลคือสิ่งที่จะนำคุณไปสู่ความสุข สู่ความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสู่ความสำเร็จและแน่นอน นำไปสู่หัวข้อของการนำเสนอที่น่าประทับใจด้วย ดังนั้นคุณควรเลือกหัวข้อที่คุณหลงใหล
เพราะความหลงใหลติดต่อได้ และมันจะถูกส่งต่อจากผู้พูดไปยังผู้ฟังอย่างแน่นอน
เคล็ดลับที่ 2 เล่าเรื่องให้เชี่ยวชาญ (Master the Art of Storytelling)
การเล่าเรื่องส่วนตัว ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับผู้พูด และการที่ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมจะทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีหรือจะเลือกเล่าเรื่องที่มีตัวเอกตกระกำลำบาก แต่ก็ต่อสู้ฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคมาได้ คนฟังชอบเรื่องเล่าเหล่านี้
และมักจะจำเรื่องเล่าได้ดีกว่า สถิติ ตัวเลข เหตุผล หรือแม้กระทั่งผู้พูดที่น่าเชื่อถือ
เคล็ดลับที่ 3 พูดแบบสนทนา (Have a Conversation)
เมื่อออกแบบการนำเสนอเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือการซ้อมพูด ซ้อม...ซ้อม...ซ้อม...และซ้อม (เป็นร้อยรอบถ้าทำได้)จนกระทั่งการพูดออกมาจากใจอย่างอัตโนมัติ อาจซ้อมให้เพื่อนฟัง แล้วนำ feedback มาวิเคราะห์ปรับปรุงการพูด หรืออาจอัดคลิปการซ้อม แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ควรพูดให้ช้ากว่าการสนทนาปกติ เนื่องจาก พูดฟังอาจไม่ได้เห็นสีหน้าและปากของคุณเหมือนกับสนทนากันต่อหน้า
ส่วนน้ำเสียง ให้ใช้น้ำเสียงเหมือนการสนทนาปกติ ใช้เสียงหนักเบาเน้นคำสำคัญ
และใช้ท่าทางสอดคล้องกับเรื่องที่พูด รวมถึงแสดงถึงความมั่นใจและกระตือรือล้น
เคล็ดลับที่ 4 สอนอะไรใหม่ ๆ ให้กับฉัน (Teach Me Something New)
มนุษย์มีความสงสัยใคร่รู้เป็นธรรมชาติ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะทำให้ผู้ฟังตื่นเต้น บางครั้งข้อมูลที่คุณนำเสนออาจไม่ใช่สิ่งใหม่แต่คุณอาจหาวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ก็สามารถทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นได้เช่นกัน เช่น การใช้ animation หรือ การใช้รูปที่แปลกตา
นอกจากนี้ การออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปพบมุมมองใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นประโยชน์สำหรับผู้พูด หรือหากไม่มีเวลา
การดูคลิปที่ TED.com ก็อาจจะช่วยคุณได้
เคล็ดลับที่ 5 ส่งมอบช่วงเวลาอ้าปากค้าง (Deliver Jaw-Dropping Moments)
สร้างช่วงเวลาที่น่าตกตะลึง น่าประทับใจ สะเทือนใจ หรือน่าประหลาดใจ จะทำให้ผู้ฟังจดจำคำพูดของคุณไปอีกนานแสนนานเพราะสมองจะสนองตอบต่ออารมณ์เป็นอย่างดี โดยคุณอาจใช้ อุปกรณ์ การสาธิต สถิติที่มีเรื่องเล่าประกอบ วลีติดหู รูปภาพ หรือ วิดีโอ
แต่ควรหลีกเลี่ยงแนวคิดที่จับต้องไม่ได้ เพราะสมองผู้ฟังจะไม่สนองตอบต่อแนวคิดเชิงนามธรรม
ขอให้จำไว้ว่า “คนจะลืมสิ่งที่คุณพูด คนจะลืมสิ่งที่คุณทำ แต่คนจะไม่มีวันลืมว่า คุณทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร” (--มายา แองเจลู)
เคล็ดลับที่ 6 ผ่อนคลาย (Lighten up)
ใช้อารมณ์ขันอย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมชาติ เพราะ อารมณ์ขันสามารถสร้างอารมณ์ร่วมในกลุ่มผู้ฟัง และสร้างทัศคติที่ดีมุกตลกที่ดีต้องผ่านการฝึกฝนจึงจะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ
คุณอาจใช้เรื่องเล่าในชีวิตประจำวันของคุณ วลีขำขันของคนอื่น หรือ รูป และวิดีโอจากอินเทอร์เน็ต
แต่อย่าใช้มุกตลกลามกหรือสกปรก เพราะมันจะทำลายภาพลักษณ์ของคุณ
เคล็ดลับที่ 7 ยึดกฎ 18 นาที (Stick to the 18-Minutes Rule)
งานวิจัยระบุว่า เวลา 18 นาทีเป็นเวลาที่ยาวพอสำหรับเรื่องที่จริงจัง และสั้นพอที่ผู้ฟังจะฟังได้โดยไม่หมดความสนใจไปเสียก่อนนอกจากนี้ ผู้พูดต้องเตรียมตัวมาอย่างดีในการนำเสนอความยาวเพียง 18 นาที จึงจะทำให้ผู้ฟังตระหนักถึงประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
ดังนั้น ผู้พูดควรเตรียมตัวดังนี้
- ตั้งชื่อหัวข้อการนำเสนอให้มีความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร เพราะทำให้จดจำได้ง่าย และ เผยแพร่ไปยัง Social Media ได้ง่ายอีกด้วย
- กำหนดประเด็นย่อย 3 ประเด็นเท่านั้น เพราะสมองผู้ฟังจะสามารถจดจำได้ดีที่สุดเพียง 3 สิ่งเท่านั้น
- เสริมประเด็นย่อย ด้วยเรื่องเล่า สถิติ และตัวอย่าง ที่ดึงอารมณ์ร่วมของผู้ฟังได้ดี
เคล็ดลับที่ 8 วาดภาพภายในใจด้วยประสบการณ์ที่ใช้สัมผัสอันหลากหลาย (Paint a Mental Picture with Multisensory Experiences)
หากผู้ฟังได้สัมผัส ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ผู้ฟังจะสามารถจดจำสิ่งที่คุณพูดได้อย่างดี ซึ่งสัมผัสแต่ละด้านอาจหมายถึงสื่อหลายชนิดก็ได้ เช่น ได้เห็นทั้งรูป และภาพเคลื่อนไหว ได้อ่านข้อความ และได้ยินเสียงคุณพูด
หรืออาจใช้การบรรยายถึงกลิ่น และรส ที่สอดคล้องไปกับเรื่องราว
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Power Point ที่อัดแน่นไปด้วยตัวอักษรและ bullet points ที่แสนน่าเบื่อ
ซึ่งทำให้สมองของผู้ฟังทำงานหนักเกินไปจากการอ่านข้อความยาว ๆ
และฟังไปพร้อม ๆ กัน ทางที่ดี ควรแปลงจากข้อความให้เป็นภาพที่สามารถสื่อถึงสิ่งนั้นได้จะเหมาะกว่า
นอกจากนี้ การสาธิต หรือนำผู้ฟังไปสัมผัสกับประสบการณ์จริง ก็เป็นการดึงดูดผู้ฟังได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เคล็ดลับที่ 9 อยู่ในทางของคุณ (Stay in your Lane)
เป็นตัวของตัวเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแท้จริงกับผู้ฟัง อาจฝึกโดยซ้อมพูดกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวเพื่อดึงเอาความเป็นตัวคุณออกมาให้มากที่สุด อย่าเลียนแบบคนอื่น เพราะผู้ฟังสามารถรับรู้ได้ถึงความไม่จริงใจ
เป็นอย่างไรบ้างคะ กับเทคนิคพิชิตการนำเสนอสไตล์ TED talk ของ Carmine Gallo ในตอนที่ 1
หวังว่าคงสามารถนำไปปรับใช้กับการนำเสนอของทุกคนนะคะ
แล้วพบกัน กับ เทคนิคการนำเสนอสไตล์ TED Talk จาก Chris Anderson ประธาน TED Talk ตัวพ่อ ในตอนที่ 2 ค่ะ
ผู้เขียน
ผศ.ดร.เนื่องวงศ์ ทวยเจริญ
วิทยากร 9EXPERT TRAINING
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
แนะนำหลักสูตร 9Expert Training
- Advanced Microsoft PowerPoint
- Microsoft Excel Intermediate
- Microsoft Excel Advanced
- Advacned Pivot Table Excel
ที่มา
- TED. เข้าถึงได้จาก: https://ted.com
- TEDxBangkok. เข้าถึงได้จาก: https://www.tedxbangkok.net/
- Gallo,Carmine (2014) Talk Like TED: The 9 Public-Speaking Secrets of The World’s Top Minds. St. Martin's Griffin.
- Anderson, Chris (2016) TED Talks:The Official TED Guide to Public Speaking.Houghton Mifflin Harcourt.